วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558


ข้าวทับทิมชุมแพ ลูกผสม..สังข์หยด+หอมมะลิ






จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเฉลี่ยปีละ 60,000 คน สาเหตุหนึ่งมาจากพฤติกรรมการบริโภค ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นโดยเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ หนึ่งในนั้นได้แก่ข้าวซึ่งมีการพัฒนาพันธุ์ให้มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ข้าวสินเหล็ก ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวสังข์หยด ข้าวเหนียวดำพันธุ์ลืมผัว ฯลฯ จนเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค จากกระแสดังกล่าวจึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้กับ คุณรณชัย ช่างศรี นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ จ.ขอนแก่น (อดีตสังกัดศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์) และคณะ ทำการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อสุขภาพอย่างข้าวมะลินิลสุรินทร์ ล่าสุดเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคจึงมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าว “ทับทิมชุมแพ” ขึ้น

     


ข้าวทับทิมชุมแพ
คุณรณชัย ช่างศรี นักวิชาการเกษตรชำนาญการ “ถูกส่งไปเรียนหลักสูตรพิเศษ ปรับปรุงพันธุ์พืชเกษตรอินทรีย์ ที่สหรัฐอเมริกา กลับมาจึงคิดทดลองปรับปรุงพันธุ์ข้าวอินทรีย์ที่ไม่ตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ตามหลักการของเกษตรอินทรีย์ที่ไปเรียนมา บังเอิญช่วงที่เริ่มทดลองทำ ข้าวสังข์หยดเริ่มเป็นที่รู้จัก แต่ผลผลิตมีน้อยปลูกได้แค่ปีละครั้ง จึงคิดปรับปรุงพันธุ์”
และเผยถึงที่มาของข้าวทับทิมชุมแพ ด้วยการนำ ข้าวสังข์หยด มาผสมพันธุ์กับ ข้าวหอมมะลิ 105 ฉายรังสี ให้กลายพันธุ์เป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงจนได้ข้าว "ทับทิมชุมแพ"สามารถปลูกได้ทั้งปี และมีต้นเตี้ย
จากการผสมข้ามพันธุ์ คัดพันธุ์ ปลูกใหม่ ผสมใหม่ คัดพันธุ์ใหม่มาตั้งแต่ปี 2549 ต้องทำหมุนเวียนอยู่อย่างนี้ถึง 7 ชั่วรุ่น ถึงจะได้ข้าวพันธุ์ทับทิมชุมแพ ในปี 2555 และต้องผ่านด่านทดสอบจนแน่ใจว่า ข้าวพันธุ์ใหม่ พันธุ์นิ่งแล้ว ปลูกยังไงไม่เฉไฉเป็นพันธุ์อื่น...ปีนี้เอง
นอกจากจะเป็นพันธุ์ที่สามารถปลูกได้ทั้งปีแล้ว ยังมีต้นเตี้ยโดนลมพัดให้หักล้มง่าย ระยะเวลาปลูกถึงเก็บเกี่ยวใช้เวลาเพียง 130 วัน สั้นกว่าสังข์หยด ให้ผลผลิต 797 กก.ต่อไร่ สูงกว่าสังข์หยดเท่าตัว และยังเป็นข้าวที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงคล้ายสังข์หยด สีเป็นข้าวกล้องนำมาหุงสุกจะมีสีแดงใสคล้ายทับทิม
ที่สำคัญอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างน่าสนใจ...มีสารฟีนอลิก 7,048 mgGAE/100g (สังข์หยดมี 4,661 mgGAE)...และมีสารฟลาโวนอยด์ 5,233 mgCE/100g (สังข์หยดมี 2,989 mgCE)




คุณสมบัติของข้าวทับทิมชุมแพ 

เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างข้าวขาวดอกมะลิ 105 ต้นเตี้ย เป็นสายพันธุ์ข้าวเจ้า ไม่ไวต่อช่วงแสงเป็นพันธุ์แม่ ต้านทานต่อโรคไหม้ กับพันธุ์สังข์หยดพัทลุงซึ่งเป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงเป็นพันธุ์พ่อ ที่ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ในฤดูนาปรัง 2551 และคัดเลือกข้าวพันธุ์ผสมชั่วที่ 2-6 ที่ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ และชั่วที่ 7 ที่ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ ในฤดูนาปี 2555 จนได้ข้าวสายพันธุ์บริสุทธิ์ SRN06008DS-18-1-5-7-CPA-20 เป็นข้าวเจ้าเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงเหมือนพันธุ์สังข์หยดพัทลุง แต่มีลักษณะอื่นที่แตกต่างจากสังข์หยดพัทลุง คือ เมล็ดใหญ่และเรียวยาว ปริมาณอะมิโลสต่ำ ข้าวหุงสุกจึงนุ่มมาก ผลผลิตสูง ต้านทานต่อโรคไหม้ ไม่ไวต่อช่วงแสง ต้นเตี้ย ไม่ล้มง่ายสมารถปลูกได้ทั้งปี ข้าวสารจะมีสีขาวขุ่น จากการตรวจสอบพบว่ามีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระฟีนอลิกและสารต้นอนุมูลอิสระฟลาโวนอยด์สูง คุณภาพการหุงต้มรับประทานดี (ข้าวกล้องเมื่อหุงสุกมีสีแดงราวกับเมล็ดทับทิม)




ลักษณะของสายพันธุ์
  • เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง
  • ความสูงของต้น 113 เซนติเมตร
  • กอตั้ง ใบเขียว
  • ปริมาณอะมิโลสต่ำ (12.63 %)
  • อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 144 วัน
  • มีสารสีขาวคล้ายข้าวเหนียว
  • ข้าวซ้อมมือมีสีแดงปนสีขาว
  • ข้าวกล้องมีสีแดง รูปร่างเรียวยาว (7.37 มิลลิเมตร กว้าง 2.02 มิลลิเมตร)
  • รูปร่าง (ความยาว/ความกว้าง) = 3.64

  


ลักษณะเด่น
  • ต้านทานต่อโรคไหม้
  • มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง ข้าวกล้องเมื่อหุงสุกนุ่มเล็กน้อย
  • ข้าวซ้อมมือเมื่อหุงสุกนุ่มและข้าวสารหุงสุกนุ่มมาก